Department Store ไทยจะเดินหน้าอย่างไรในยุคนี้?

#วิเคราะห์ห้างเล่นๆ

ใครที่ทันยุคที่ตึกใหญ่สำหรับให้เราไปซื้อของนั้น มีแต่ตึกที่ข้างในเป็นดีพาร์ทเมนท์สโตร์ (ร้านใหญ่ร้านเดียวมีหลายแผนก) ทั้งตึก แสดงว่าไม่เด็กแล้วนะครับ!

ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของการที่คนไทยเรียกสถานที่สำหรับไปซื้อของว่า #ห้างสรรพสินค้า กันติดปากจนถึงทุกวันนี้ โดยที่ไม่สนว่าข้างในนั้นจะเป็นแบบดีพาร์ทเมนท์สโตร์ หรือพลาซ่า (หลายร้านมาอยู่รวมกันในสถานที่เดียว)

ก็เพราะราชบัณฑิตฯดันไปแปลคำว่า Department Store เป็นไทยว่า ห้างสรรพสินค้า ซึ่งคำนี้ความหมายมันกว้างการความหมายของ ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ และสื่อถึงการเป็นประเภทของสถานที่ มากกว่าจะสื่อว่าเป็นแค่รูปแบบสถานที่ค้าปลีกประเภทดีพาร์ทเมนท์สโตร์

มิหนำซ้ำดันไปแปลคำว่า Shopping Center/Mall ว่า #ศูนย์การค้า (ซึ่งความหมายของช้อปปิ้งมอลล์ก็คือ สถานที่จับจ่ายขนาดใหญ่ที่มีร้านค้าปลีกหลายประเภทอยู่รวมกัน โดยส่วนใหญ่จะมีดีพาร์ทเมนท์สโตร์เป็นหนึ่งในส่วนประกอบหลัก) ซึ่งคำว่าศูนย์การค้านี่ความหมายโดยรูปของมันกว้างยิ่งกว่าห้างสรรพสินค้าซะอีก และไม่สื่อถึงการเป็นสถานที่ (ไม่ควรเอามาใช้เรียกประเภทของสถานที่)

ผลก็คือทุกวันนี้คนไทยเรียกสถานที่สำหรับไปซื้อของว่า ห้างสรรพสินค้า โดยไม่สนว่าในตึกนั้นจะเป็น Department Store หรือ Shopping Center และไม่มีใครเรียกสถานที่นี้ว่า ศูนย์การค้า เลย แม้ว่าเจ้าของสถานที่จะพยายามเรียกตัวเองว่าศูนย์การค้าออกสื่อแค่ไหนก็ไม่มีใครเรียกตาม จนถึงปัจจุบัน

ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยชินกับการเรียกตึกที่ไปซื้อของว่าห้างสรรพสินค้า แม้ว่าปัจจุบันตึกนั้นมันจะเปลี่ยนรูปแบบค้าปลีกเป็นแบบช้อปปิ้งมอลล์กันหมดแล้ว (เหลือแค่ 6 แห่งที่ยังเป็นดีพาร์ทเมนท์สโตร์ทั้งตึก) และคำว่าศูนย์การค้า มันเรียกยาก ไม่ติดปาก

เจ้าของห้างอย่างเซ็นทรัลกับเดอะมอลล์เองก็เคร่งคำแปลราชบัณฑิตฯจัง พยายามยัดเยียดให้ลูกค้าเรียกทั้งตึกกับโซนร้านเช่าว่าศูนย์การค้า แล้วให้เรียกโซนดีพาร์ทเมนท์สโตร์ว่าห้างสรรพสินค้า 

มีซีคอนสแควร์พยายามแหวกแนวเรียกตัวเองว่าศูนย์สรรพสินค้า เขาคงรู้สึกแปลกๆ กับคำว่าศูนย์การค้าเหมือนคนไทยทั่วไป แต่จะให้เรียกตัวเองว่าห้างฯก็กลัวจะถูกเข้าใจว่าเป็นตึกดีพาร์ทเมนท์สโตร์ เอามาผสมกันซะเลย 555

เพจเราจึงไม่ใช้คำว่าห้างสรรพสินค้า ในความหมายแค่ส่วนดีพาร์ทเมนท์สโตร์ แบบที่เจ้าของห้างเขาใช้กันอย่างเด็ดขาด เพราะคนอ่านจะเข้าใจว่าหมายถึงทั้งตึกแน่นอน และจะไม่ใช้คำว่าศูนย์การค้าเช่นกัน เพราะคำนี้มันไม่มีใครเรียก ถ้าใช้ไปคนจะงงว่า หมายถึงห้างฯหรือเปล่านะ

เพจเราถึงใช้ชื่อ ชีวิตติดห้าง ทั้งที่นำเสนอช้อปปิ้งมอลล์เป็นหลัก ไม่ใช้ชื่อ ชีวิตติดศูนย์ เพราะจะกลายเป็นเพจดราม่าแทน 555 สรุป เรียกทับศัพท์ไปเลยดีที่สุด เข้าใจไม่คลาดเคลื่อน (เหมือนที่เราเรียกคอมพิวเตอร์ไปเลย ไม่เรียกคณิตกร)

สิ่งที่เราแนะนำให้เปลี่ยนก็คือ ตึกค้าปลีกทั้งหมดให้เรียกรวมกว้างๆ ไปเลยว่า ห้างฯ หรือทับศัพท์ไปเลยว่าช้อปปิ้งมอลล์ เฉพาะส่วนที่เป็นดีพาร์ทเมนท์สโตร์ ก็ให้เรียกทับศัพท์ไปเลยว่าดีพาร์ทเมนท์สโตร์ เฉพาะส่วนที่เป็นร้านเช่าก็ให้เรียกว่าโซนพลาซ่า

หวังว่าวันหนึ่งเซ็นทรัลจะยอมเปลี่ยนคำเรียกตัวเองไปตามเรียกสิ่งที่คนทั่วไปเรียก เหมือนกรณีที่เขายอมตัด Plaza ออกจาก Central ทุกสาขา เพราะไม่มีใครเรียก ตามที่เพจเราเคยนำเสนอเรื่องนี้ไปตั้งแต่หลายปีก่อน

มาเข้าเรื่องๆ พูดถึงดีพาร์ทเมนท์สโตร์ ซึ่งถือเป็นรูปแบบที่ความนิยมลดลงเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน

คนรุ่นใหม่ๆ เคยชินและนิยมกับรูปแบบร้านค้าปลีกประเภทช้อปปิ้งมอลล์มากกว่า คือมีหลายๆ ร้านให้เลือกเดินเข้า ส่วนใหญ่เป็นร้านละแบรนด์ชัดเจน ต้องการอะไรก็เดินเข้าร้านนั้น ไม่ต้องเดินตระเวนหาของทีละแผนกแบบดีพาร์ทเมนท์สโตร์

หลักฐานคือ ในช้อปปิ้งมอลล์ใหญ่ๆ ที่มีดีพาร์ทเมนท์สโตร์เป็นโซนหนึ่งของแทบทุกชั้น ลองสังเกตดู มักจะมีคนเดินบางตากว่าโซนที่เป็นร้านแยกเรียงติดๆ กัน

ดีพาร์ทเมนท์สโตร์เก่าแก่ที่เคยเป็นดีพาร์ทเมนท์สโตร์ทั้งตึก ที่ยังเหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน ตอนนี้เริ่มไม่ไหวแล้ว ล่าสุด พาต้า ปิดเหลือชั้นเดียว ตั้งฮั่วเส็งธนบุรี ยุบเหลือ 3 ชั้น

และดีพาร์ทเมนท์สโตร์หลายแห่งก็มีการลดพื้นที่ลงจากเดิม เช่น Imperial ของ อิมพีเรียลสำโรง โรบินสันรังสิต ในฟิวเจอร์พาร์ค ในขณะที่เซ็นทรัลเปิดช้อปปิ้งมอลล์สาขาใหม่ๆ บางแห่งก็เลือกที่จะไม่มีโซนดีพาร์ทเมนท์สโตร์เลย เช่น ศรีราชา จันทบุรี

แต่ยังไงก็ตามเจ้าของดีพาร์ทเมนท์สโตร์เจ้าหลักในปัจจุบันอย่างเซ็นทรัลและเดอะมอลล์ ก็มีการพยายามทดลองปรับเปลี่ยนรูปแบบของดีพาร์ทเมนท์สโตร์ ให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป้น

  1. การเบลอพื้นที่โซนดีพาร์ทเมนท์สโตร์กับช้อปปิ้งมอลล์ ให้ซ้อนกันมากขึ้น อย่าง Emporium ช่วงก่อนหน้านี้ โรบินสันสาขาใหม่ๆ ในช่วง 3-4 ปีก่อน ซึ่งอันนี้น่าจะถือว่าไม่เวิร์ค ทำให้เดินยากขึ้น งงกว่าเดิม ดีพาร์ทเมนท์สโตร์สาขาใหม่ๆ ในช่วงปีหลังก็ไม่ได้ทำแบบนี้แล้ว
  1. การปรับทางเดินในโซนดีพาร์ทเมนท์สโตร์ ให้เดินง่ายขึ้นเกือบเท่าโซนช้อปปิ้งมอลล์ อันนี้ เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ ถือว่าทำได้ดีขึ้น ในขณะที่แผนกต่างๆ ในเซ็นทรัลดีพาร์ทเมนท์สโตร์สาขาต่างๆ ยังคงทางเดินแคบอยู่

แนวคิดของเจ้าของดีพาร์ทเมนท์สโตร์ในอดีต ที่พยายามทำให้ทางเดินแคบคดเคี้ยว เพื่อที่คนจะได้ใช้เวลาเดินนานขึ้น ได้เดินผ่านสินค้าให้ได้มากที่สุด เพิ่มโอกาสขายของแบบไม่ตั้งแต่ อาจจะใช้ไม่ได้กับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ๆ อีกแล้ว

  1. การเพิ่มแบรนด์ให้แต่ละแผนกในดีพาร์ทเมนท์สโตร์ เพื่อความชัดเจนของหมวดหมู่สินค้า และเพิ่มความง่ายในการเดินหาแผนก อันนี้เซ็นทรัลทำมาก่อน และเวิร์คมากๆ จนกลายมาเป็น B2S, Power Buy, SuperSports ในปัจจุบัน 

ค่ายเดอะมอลล์ทำตามมั่ง มี BeTrend, Power Mall, Sports  Mall แม้จะไม่ได้แยกแบรนด์เหล่านี้ออกมานอกห้างของตัวเอง แต่ในดีพาร์ทเมนท์สโตร์ถือว่าทำได้ดีกว่าเพราะสร้างแบรนด์แยกครบทุกแผนก ให้จดจำง่าย ทั้ง The Living, Men In Trend, Kids’ Planet, Lady Boutique ฯลฯ ครบหมดจด ทำให้ปัจจุบันดีพาร์ทเมนท์สโตร์ของค่ายเดอะมอลล์มีความชัดเจนของแต่ละแผนก และเดินง่ายกว่ามาก!

สรุป ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ทั้งสองค่ายหลักพยายามปรับตัวท่ามกลางกระแสค้าปลีกปัจจุบันที่เปลี่ยนไปในทางที่ไม่เอื้อต่อรูปแบบเดิมๆ ของดีพาร์ทเมนท์สโตร์ 

ยังมี Pain Point ในการเดินซื้อของโซนดีพาร์ทเมนท์สโตร์อีกมากมาย ที่ผู้บริหารดีพาร์ทเมนท์สโตร์จะต้องหาทางแก้ไขปรับปรุงกันต่อไปอีก ก่อนที่ความนิยมและยอดขายของดีพาร์ทเมนท์สโตร์จะลดลงกว่านี้ ไม่ว่าจะเป็น แคชเชียร์ที่มีจุดน้อยรอคิวนาน การวางสินค้าตามแบรนด์ที่ทำให้ดูยาก การจัดทางเดินที่ต้องคอยหลบสินค้าที่ขวางกลาง ฯลฯ

แต่อย่างไรดีพาร์ทเมนท์สโตร์ก็ยังมีข้อดีอยู่มากมายเช่นกัน ที่ทำให้คนรุ่นก่อนยังคงซื้อของกับดีพาร์ทเมนท์สโตร์เป็นหลัก และทำให้ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ยังอยู่มาได้เป็นโซนหนึ่งที่ใหญ่มากในช็อปปิ้งมอลล์จนถึงทุกวันนี้

สุดท้ายนี้ หลังจากที่แอดมินไปเดินเซ็นทรัลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ สาขารีโนเวทใหม่ที่รามอินทราแล้ว ทำให้คิดขึ้นมาได้ว่า ใช้พื้นที่แค่นี้ก็พอแล้วป่าววะ? (สาขาอื่นๆ จะกว้างใหญ่ไพศาลไปทำไม 555)

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *